ขอบเขตของการเปลี่ยนแปลง
ตัวเราเป็นเหมือนเครื่องจักรที่ถูกประกอบมาตามแบบ และมีชีวิตที่ถูกกำหนดไว้แล้วด้วยสมองที่เกิดมาพร้อมกับเรา หรือ เราสามารถเดินสายวงจรชีวิตได้ใหม่ ตั้งโปรแกรมจิตใจ และกำหนดชะตากรรมของตัวเองได้
ฮันนาห์ คริตช์โลว์ นักประสาทวิทยา บอกว่า นี่คือสิ่งที่งานวิจัยด้านสมองล่าสุดอาจบอกเรา
สมองของคุณไม่ได้อยู่คงที่เมื่อคุณเป็นผู้ใหญ่
นิวโรพลาสติกซิตี (Neuroplasticity) เป็นความสามารถของสมองในการเปลี่ยนแปลงได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
เป็นเวลาหลายปีที่นักประสาทวิทยาจำนวนมาก เชื่อว่า โครงสร้างสมองของผู้ใหญ่อยู่คงที่ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ มีอย่างไร ก็อยู่อย่างนั้น แต่ในช่วงทศวรรษ 1960 ความเชื่อนี้เริ่มเปลี่ยนแปลงไป
การวิจัยทดลองใหม่ได้ให้ผลที่ขัดแย้งจากเดิม โดยพบหลักฐานที่บ่งชี้ว่า อันที่จริงแล้ว สมองอาจถูกสร้างขึ้น อาจจะปรับตัว หรือ เติบโต และแม้แต่เกิดขึ้นมาใหม่ได้
ชีวิตแท็กซี่ในลอนดอนบอกอะไรเกี่ยวกับสมองเรา
ตามแท็กซี่คันนั้นไป
ฮิวโก สเปียร์ส นักประสาทวิทยาทางความคิด ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับความจำ แห่งมหาวิทยาลัยยูนิเวอร์ซิตีคอลเลจลอนดอน (University Collage London--UCL) บอกว่า "เมื่อขึ้นแท็กซีดำของลอนดอน แล้วบอกจุดหมาย คนขับก็มีหน้าที่พาคุณไปส่งยังปลายทางด้วยเส้นทางที่เร็วที่สุด"
ในการทำเช่นนั้นได้ คนขับแท็กซี่ต้องจดจำถนนทุกสายในกรุงลอนดอน ซึ่งภายในรัศมี 10 กิโลเมตร มีถนนกว่า 60,000 สาย (รวมถึงทางเดินรถทางเดียว และการห้ามเลี้ยวตามจุดต่าง ๆ" นอกจากนี้ยังต้องจดจำสถานที่อีกกว่า 100,000 แห่ง
คนขับแท็กซี่รายหนึ่ง บอกกับ ฮิวโก ว่า "ถ้าคุณลองนึกถึงห้องรับแขกของคุณ คุณรู้ว่าหนังสือหรือโซฟาของคุณอยู่ตรงไหน เดินไปครัวยังไง... คุณไม่ต้องคิดเลย มันก็เหมือนกับถนนทุกสายในลอนดอน"
- งานวิจัยล่าสุดตอกย้ำ สมองคนสร้างเซลล์ประสาทใหม่ได้ตลอดชีวิต
- ฟื้นเซลล์สมองหมูหลังความตาย ให้กลับมาทำงานได้สำเร็จบางส่วน
คนขับแท็กซี่ใช้เวลา 2-4 ปี กว่าที่จะสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ได้อย่างคล่องแคล่ว
เมื่อนักประสาทวิทยาศาสตร์ที่ UCL เริ่มศึกษาสมองของคนขับรถ พวกเขาได้ค้นพบเรื่องที่น่าประหลาดใจคือ ขณะที่กำลังมีการจดจำข้อมูลจำนวนมหาศาลนี้ สมองได้เริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น
การใช้เทคโนโลยีภาพสมอง ทำให้นักวิทยาศาสตร์เห็นส่วนของสมองที่เรียกว่า ฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ขยายใหญ่ขึ้น ช่วยให้ตีความได้ว่า สมองของเรา ณ ชั่วขณะหนึ่ง ไม่ได้คงอยู่แบบนั้นตลอดไป และเรามีความสามารถที่ทำให้สมองเปลี่ยนแปลงได้
นอกจากนี้ยังทำให้เกิดคำถามว่า เราสร้างสมองของเราให้เป็นแบบที่เราต้องการอย่างที่เราสร้างกล้ามเนื้อได้หรือไม่
เยียวยาจิตใจ
นิวโรพลาสติกซิตี ทำอะไรได้บ้าง กับสมองที่เสื่อมถอยมากขึ้นของเรา
ผลการทดลองในเวลาต่อมาได้พิสูจน์ว่า สามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่สมองได้ ทั้งในแง่ของโครงสร้างและการทำหน้าที่ แม้ว่าเราจะอายุล่วงเลย 60 ปี 70 ปี หรือ 80 ปี แล้วก็ตาม
หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดคือ นิวโรเจเนซิส (neurogenesis) หรือการเกิดขึ้นของเส้นประสาทใหม่จากเซลล์ประสาทต้นกำเนิดในผู้ใหญ่
ชารอน เบกลีย์ ผู้สื่อข่าวชาวอเมริกัน และผู้เขียนหนังสือเรื่อง เดอะ พลาสติก เบรน (The Plastic Brain) กล่าวว่า "นี่มีความเป็นไปได้อย่างมากถึงความสามารถในการเยียวยาของเรา"
นั่นคือเหตุผลว่า การรักษาต่าง ๆ อย่างเช่น การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioural Therapy--CBT) ซึ่งเป็นการบำบัดด้วยการพูดคุยรูปแบบหนึ่ง ช่วยให้คุณจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ได้ ด้วยการเปลี่ยนวิธีคิดและการกระทำ
การส่งเสริมนิวโรพลาสติกซิตี [ความสามารถของสมองในการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง] อาจช่วยผู้คนได้ในหลายรูปแบบ
ชารอน บอกว่า "เมื่อเราถูกสอนให้คิดถึงประสบการณ์ชีวิตที่ต่างออกไป การแทรกแซงทางจิตวิทยาเช่นนี้ทำให้เกิดผลต่อโครงสร้างและการทำงานของสมองจริง ๆ"
แต่ระวังสิ่งที่ชารอนเรียกว่า "นิวโร-ไฮป์" (neuro-hype) หรือความเชื่อที่ว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงทุกอย่างเกี่ยวกับสมองของเราได้ เพราะการเชื่อเช่นนี้อาจจะส่งผลในทางตรงกันข้ามได้
เกิดอะไรขึ้นเมื่อคนไม่สามารถ "คิด" หาทางออกจากอาการซึมเศร้าหรือบาดแผลทางจิตใจได้ ชารอนถามว่า "เราจะโทษพวกเขาว่า ไม่ยอมคิดในแบบที่ถูกต้องหรือเปล่า"
"ความคิดที่ว่าสามารถแก้ไขสิ่งที่ผิดปกติในสมองได้ทุกอย่าง เป็นความคิดที่ไกลเกินไป" ชารอน กล่าว
การเปลี่ยนแปลงของสมองมีผลต่อบทบาททางเพศอย่างไร
ยกตัวอย่าง เราอาจแบ่งพฤติกรรมหลายด้านตามภาพจำทางเพศ บางคนเชื่อว่า โครโมโซมเพศจะเป็นตัวกำหนดการแสดงออกของคุณ
"ผู้หญิงไม่มีเหตุผล และผู้ชายไม่อ่อนไหว ลองคิดใหม่" จีนา ริปพอน นักประสาทวิทยาทางความคิด และผู้เขียนเรื่อง เดอะ เจนเดอร์ด เบรน (The Gendered Brain) กล่าว
จีน่า ตั้งคำถามกับความคิดที่ว่า สมองของผู้ชายและผู้หญิงแตกต่างกัน และความแตกต่างนั้นแก้ไขไม่ได้ เธอพบว่า ไม่มีอะไรในทางชีวภาพของมนุษย์ที่สนับสนุนความคิดที่ว่า มีความแตกต่างทางเพศในสมอง
แต่จีน่า บอกว่า มนุษย์มีสมองที่กลายเป็น 'สมองผู้ชาย' และ 'สมองผู้หญิง' ก็เพราะประสบการณ์ที่พวกเขาสั่งสมมาในชีวิต บอกเขาว่า เพศเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมและความถนัด
ความสามารถในการปรับตัวของสมองได้ผลทั้งสองทาง และจีน่า บอกว่า การที่เรารู้ว่าสมองเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เกิดไปจนถึงช่วงที่อายุมากขึ้น อาจช่วยให้เราหลีกเลี่ยงอคติเกี่ยวกับเรื่องเพศในแบบเดิม ๆ และข้อจำกัดจากการมีอคติเหล่านั้น
การเปลี่ยนแปลงของสมองและการเลี้ยงดู
เมื่อมองในแง่ของเรื่องการเลี้ยงดูลูก การที่พ่อแม่คิดว่า ชีวิตถูกกำหนดไว้แล้วในระดับหนึ่ง อาจช่วยทำให้เบาใจลงได้บ้าง
ธรรมชาติที่ถูกกำหนดไว้ อาจช่วยให้พ่อแม่เผชิญกับแรงกดดันได้ในยุคที่มีแต่เรื่องให้ต้องคิดตัดสินใจ และเต็มไปด้วยความกังวลเกี่ยวกับการเลี้ยงลูก
ดังนั้น ถ้าการเลี้ยงดูมีความสำคัญ พ่อแม่ควรกังวลเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ว่า ควรเลี้ยงดูลูกอย่างไร
จีน่า บอกว่า การเปลี่ยนแปลงของสมอง อาจช่วยทำให้พ่อแม่รู้สึกมีความหวังมากขึ้น "ถึงเราไม่เล่นเพลงโมซาร์ตให้ทารกแรกเกิดฟัง พวกเขาก็ยังสามารถที่จะเรียนด้านดนตรีได้ในช่วงที่เป็นเด็กเล็ก และเรียนเปียโนในตอนที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ยังได้"
การเปลี่ยนแปลงของสมอง ทำให้เกิดมุมมองที่เป็นบวกมากขึ้นเกี่ยวกับศักยภาพของมนุษย์ โลกที่สมองของเด็กเป็นมากกว่ากระดานที่ว่างเปล่า ไม่ขึ้นอยู่กับการสืบทอดทางพันธุกรรม
สมองของคุณเปลี่ยนแปลงได้แค่ไหน
คนเราแก่เกินไปที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ หรือไม่
สมองของเราเปลี่ยนแปลงทุกวัน
ทุกครั้งที่คุณเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ หรือมีความคิดใหม่ คุณกำลังสร้างการเชื่อมต่อทางประสาทขึ้นในจิตใจ ทำให้เกิดโครงสร้างทางกายภาพใหม่ขึ้นในสมองของคุณ
แต่เราสามารถคาดหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้มากแค่ไหน
เควิน มิตเชลล์ นักพันธุกรรมระดับประสาท ที่ ทรินิตีคอลเลจ (Trinity College) ในกรุงดับลินของไอร์แลนด์ กล่าวว่า "การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญส่วนใหญ่เกิดขึ้นในระดับไมโคร เป็นการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ ในระดับของการเชื่อมต่อระหว่างเส้นประสาท" โดยเขาระบุว่า "นั่นคือการก่อตัวขึ้นของความจำของเรา"
ในหนังสือของเขาเรื่อง Innate เควิน ระบุว่า บางทีเราควรจะจำไว้ว่า "การเปลี่ยนแปลงของสมองมีขีดจำกัด" และควรตั้งข้อสงสัยกับความคิดที่ว่า "การเปลี่ยนแปลงในระดับไมโครของเราเกิดขึ้นได้ จนกระทั่งสามารถเปลี่ยนแปลงบุคลิกนิสัยของเราได้"
"เราควรชั่งน้ำหนักหลักฐานอย่างระมัดระวังมากขึ้น" เควิน กล่าว และไม่ควรเชื่อมั่นในความคิดที่ว่า "เราสามารถเปลี่ยนแปลงทุกอย่างตามที่ต้องการได้ เราเป็นอิสระจากโซ่ตรวนทางพันธุกรรมที่กำหนดชะตากรรมของเรา และทำให้เราเป็นใครก็ได้ที่อยากเป็น"
"เรากำลังใช้งานสมองอยู่ตลอดเวลา เราใช้สมองส่วนที่ช่วยในการมองเห็นและการฟังอยู่ตลอดเวลา" เขากล่าว "กระนั้น สมองก็ไม่ได้มีขนาดใหญ่ขึ้น ถ้าทุกส่วนของสมองที่เราใช้งานใหญ่ขึ้นตลอดเวลา เมื่อถึงจุดจุดหนึ่ง กะโหลกของเราคงจะแตกออก"
สิ่งที่งานวิจัยอย่างของ เควิน เผยให้เห็นก็คือ ขอบเขตการเปลี่ยนแปลงของสมอง บางทีอาจส่งผลกระทบต่อยีนของเราเสียด้วย
อาจเป็นไปได้ว่า มีคนบางส่วนที่ถูกกำหนดไว้แล้วว่า ต้องเป็นคนขับแท็กซี่ในลอนดอน เนื่องจากเกิดมาพร้อมกับยีนที่เหมาะสมในการทำให้ฮิปโปแคมปัสเติบโตได้ดี
สรุปแล้ว ธรรมชาติ หรือ การเลี้ยงดู ที่กำหนดชะตากรรมของเรา
อะไรที่ทำให้พืชชนิดหนึ่งโตสูงกว่า มันเป็นเรื่องของพันธุกรรม หรือ การดูแล ที่พืชได้รับ
สุดท้ายแล้ว อิทธิพลของยีนในตัวเราและสิ่งแวดล้อม ซึ่งหมายถึงสิ่งที่เกิดมาพร้อมกับเราและสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ ต่างก็มีส่วนเกี่ยวข้องกันอย่างไม่ออกแบ่งแยกได้
"เราจำเป็นต้องเลิกแบ่งขั้วระหว่าง มาตามธรรมชาติ กับ มาโดยการเลี้ยงดู" เควิน กล่าว "เพราะทั้งสองอย่างต่างเชื่อมโยงกันโดยไม่อาจแยกออกจากกันได้"
เขากล่าวว่า เราถูกเชื่อมต่อไว้ก่อนแล้ว มีหลายสิ่งที่ถูกกำหนดไว้แล้วตั้งแต่กำเนิดซึ่งขึ้นอยู่กับด้านชีวภาพของเราเอง และวิธีการที่สมองพัฒนา สิ่งเหล่านี้เองที่กำหนดบุคลิกนิสัยของเรา
การที่เรามีชีวิตที่แตกต่างกันไปในหลาย ๆ ด้าน อาจเป็นเรื่องของพันธุกรรม แต่การที่ถูกกำหนดไว้แล้วล่วงหน้า ไม่สามารถนำไปอธิบายเรื่องต่าง ๆ ที่เราตัดสินใจทำได้ทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องของความเคยชิน
"นิสัยที่เราแสดงออกมาเมื่อเจอกับสถานการณ์ต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ควบคุมการกระทำของเราในแต่ละช่วงขณะ" เควิน กล่าว
ผลกระทบจากพันธุกรรมต่อสมองของเรา และผลกระทบจากประสบการณ์ของเรา ต่างส่งผลต่อกันอย่างต่อเนื่อง
ทั้งสองอย่างนี้ช่วยสร้างบุคลิกลักษณะนิสัยของเราตลอดช่วงที่เรามีชีวิตอยู่
ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า นี่ไม่ใช่เรื่องของ เจตนาหรือโชคชะตา อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของ เจตนาและโชคชะตา ที่ร่วมกำหนดชีวิตของเรา
Refer: Click Here