“จินดามณี” เป็นวรรณกรรมสําคัญเรื่องหนึ่งของไทยที่มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา นิพนธ์โดยพระโหราธิบดี เดิมเขียนลงในสมุดข่อย ก่อนคัดลอกสืบต่อกันมา กระทั่งถึงยุคตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่มด้วยกระดาษฝรั่ง และต่อมากรมศิลปากรได้พิมพ์เผยแพร่ จัดจำหน่ายโดยสำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร
เชื่อกันว่าจินดามณีเป็นแบบเรียนเล่มแรกของไทย ด้วยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการสอนพื้นฐานด้านอักขรวิทยา และการประพันธ์บท ร้อยกรองประเภทต่างๆ ครอบคลุมเรื่องการใช้สระ พยัญชนะ วรรณยุกต์ การแจกลูก การผันอักษร อักษรศัพท์ อักษรเลข การสะกดการันต์ การแต่งคำประพันธ์ชนิดต่างๆ
ในยุคต่อๆ มา มีผู้แต่งหนังสือจินดามณีเพิ่มอีกหลายสำนวน เริ่มตั้งแต่เล่มต้นแบบ คือจินดามณีที่แต่งขึ้นในสมัยอยุธยา โดยพระโหราธิบดี ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แม้บางข้อมูลระบุว่าอาจจะแต่งก่อนหน้านั้นนับร้อยปี คือแต่งในรัชสมัยของสมเด็จพระเอกาทศรถ แต่จากการที่จินดามณีของพระโหรา ธิบดีเป็นแบบเรียนไทยมาก่อนจนเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของแบบเรียนไทย ทำให้หนังสือแบบเรียนไทยในยุคหลังๆ หลายเล่มใช้ชื่อตามว่าจินดามณี เช่นเดียวกัน
เช่น จินดามณีฉบับความแปลก จินดามณีครั้งแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ จินดามณีฉบับกรมหลวงวงษาธิราชสนิท จินดามณีฉบับพิมพ์ของหมอสมิท และจินดามณีฉบับพิมพ์ของหมอบรัดเล
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการในยุคหลังตั้งข้อสังเกตว่า จินดามณีน่าจะเป็นแบบเรียนสำหรับผู้ที่จะถวายตัวเข้ารับราชการ หรือผู้ฝักใฝ่ฝึกฝนในเชิงกวี มากกว่าจะเป็นแบบเรียนเขียนอ่านทั่วไป เนื่องจากเนื้อหาประกอบด้วยการรวบรวมถ้อยคําที่อาจเขียนผิด เช่น คํายืมภาษาต่างประเทศ คําพ้องรูป พ้องเสียง ซึ่งเป็นคําที่ใช้ในภาษาเขียน รวมถึงการอธิบายพร้อมยกตัวอย่างวิธีการแต่ง คําประพันธ์ต่างๆ
ปัจจุบันยังมีการพบต้นฉบับสมุดข่อยที่คัดลอกสืบต่อกันมาปรากฏอยู่ตามวัดวาอาราม อาทิ วัดท่าพูด ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้เข้าไปศึกษาและเรียบเรียงรายละเอียดเพื่อประโยชน์ในการค้นคว้าของผู้สนใจ
สำหรับ “พระโหราธิบดี” ทำเนียบนักเขียนวรรณคดีของไทยระบุโดยอ้างอิงจากหนังสือประวัติวรรณคดี เล่ม 1 (กระทรวงศึกษาธิการ) ว่า เป็นกวีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ประวัติของกวี ผู้นี้ไม่แน่ชัดนัก เข้าใจกันว่าเป็นชาวพิจิตร รับราชการตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง มีตำแหน่งเป็นโหรหลวง
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า เป็นคนเดียวกับพระโหราธิบดีทายหนู โดยย้อนไปรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ปรากฏว่าถวายคำพยากรณ์แม่นยำ สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเชื่อถือมาก
เล่ากันว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเสด็จอยู่ในพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์มหาปราสาท มีมุสิก (หนู) ตกลงมา ทรงเอาขันทองครอบไว้ ให้หาพระโหรามาทาย พระโหราธิบดีคำนวณแล้วทูลว่า สัตว์สี่เท้า ตรัสถามว่ากี่ตัว พระโหราธิบดีคำนวณแล้วทูลว่า สี่ตัว ตรัสว่า สัตว์สี่เท้าถูกอยู่ แต่ที่ว่าสี่ตัวนั้นผิดแล้ว ครั้นเปิดขันทองขึ้น เห็นลูกมุสิกคลานอยู่สามตัวกับแม่ตัวหนึ่งเป็นสี่ตัว ก็ทรงตรัสสรรเสริญพระโหราธิบดีว่าแม่นกว่าตาเห็นและตำนานศรีปราชญ์ที่พระปริยัติธรรมธาดาแต่งไว้ กล่าวว่าพระโหราธิบดีเป็นบิดาของศรีปราชญ์ วรรณคดีที่พระโหราธิบดีแต่งมี 2 เรื่องคือ จินดามณี และพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ
อ้างอิง
- จินดามณี-พระโหราธิบดี โดย www.khaosod.co.th Date: 29 March 2018